ร่วมน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อการพัฒนาประเทศ ตลอดระยะเวลา 70 ปี แห่งการครองราชย์ พระองค์ได้ทรงริเริ่มโครงการพระราชดำริมากมายที่มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจน พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ทรงเชื่อว่าการศึกษาคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยพระองค์ทรงมีพระราชดำริและโครงการต่างๆ ที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาไทยอย่างต่อเนื่อง สสวท.ขออัญเชิญพระบรมราโชวาท ที่พระองค์ท่านทรงเคยพระราชดำรัสไว้ในงานที่เกี่ยวข้องกับครูและการศึกษา ดังนี้

พระองค์ทรงยึดหลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โดยเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง เพื่อทรงศึกษาสภาพปัญหาและหาแนวทางแก้ไขอย่างใกล้ชิด ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า และทรงช่วยเหลือประชาชนในยามประสบภัยพิบัติและความเดือดร้อนต่าง ๆ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีความสนพระราชหฤทัยในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยทรงเน้นการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนา ทรงนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์แก้ปัญหาในชีวิตจริง และทรงมุ่งเน้นประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ทรงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับบริบทของท้องถิ่น ประหยัด และสามารถพึ่งพาตนเองได้ และทรงสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อค้นคว้าหานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตัวอย่างเช่น

(1) โครงการฝนหลวง เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริฯ เพื่อสร้างฝนเทียมสำหรับบรรเทาปัญหาความแห้งแล้ง และการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร

(2) โครงการแกล้งดิน เป็นแนวพระราชดำริของในหลวง ร.9 เกี่ยวกับการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวหรือดินที่เป็นกรดจัด เพื่อเปลี่ยนดินที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ให้สามารถพลิกฟื้นมาเป็นดินที่เหมาะแก่การเพาะปลูกได้

(3) ไบโอดีเซล ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเล็งเห็นว่าในอนาคตราคาน้ำมันโลกจะสูงขึ้น พระองค์จึงทรงได้มีพระราชกระแสให้คิดค้นเกี่ยวกับพลังงานทดแทนจากจากพืชผลการเกษตรที่สามารถใช้แทนน้ำมันจากปิโตรเลียมได้ เช่น แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล หรือพลังงานทดแทนอื่น ๆ ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำโครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม และยังได้ให้ผู้แทนพระองค์ยื่นจดสิทธิบัตร “การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล” อีกด้วย

(4) โครงการแก้มลิง เป็นแนวคิดในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย โดยพระองค์ทรงตระหนักถึงผลกระทบของน้ำท่วมที่เกิดขึ้นหลายครั้งในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง จึงมีพระราชดำริ “โครงการแก้มลิง” โดยจะเลือกพื้นที่พักน้ำที่ไหลมาจากตอนบนของประเทศ บริเวณดังกล่าวเปรียบเสมือนแก้มของลิงที่กักเก็บน้ำไว้ และจะปิดประตูระบายน้ำไว้ในขณะที่น้ำทะเลหนุนขึ้นสูง แต่เมื่อน้ำทะเลลดระดับลง น้ำตามแหล่งน้ำต่าง ๆ จะไหลลงสู่ทะเลตามปกติ จากนั้นจะมีการสูบน้ำออกจากพื้นที่แก้มลิง เพื่อเป็นการลดผลกระทบจากอุทกภัยนอกจากโครงการแก้มลิงจะมีขึ้นเพื่อช่วยลดปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและบริเวณใกล้เคียงแล้ว ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง โดยน้ำที่ถูกกักเก็บไว้ เมื่อถูกระบายสู่คูคลองจะไปเจือจางน้ำเสียและผลักดันน้ำเสียให้ระบายออกไปในที่สุด

(5) กังหันน้ำชัยพัฒนา คือ เครื่องกลเติมอากาศแบบทุ่นลอยหมุนช้าสำหรับบำบัดน้ำเสีย ซึ่งในหลวง ร.9 ทรงมีพระราชดำริขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการบำบัดน้ำเสียและใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งกังหันน้ำชัยพัฒนานี้ได้รับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2536 จึงนับว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ได้รับการถวายสิทธิบัตร และยังเป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย ต่อมาจึงได้มีการกำหนดให้วันที่ 2 ก.พ. ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์”

ที่มา: